วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วิธีการทำน้ำเต้าหู้

วิธีทำน้ำเต้าหู้ สูตรทำน้ำเต้าหู้

"น้ำเต้าหู้" เชื่อว่าทุกคนคงได้ลองลิ้มชิมรสกันมาแล้ว เนื่องจากเป็นเครื่องดื่ม สำหรับผู้ที่รักสุขภาพที่น่าจะมีราคาถูกสุด บางคนก็ทำทานเล่น บางคนก็สามารถพัฒนาไปสู่การทำขายเป็นอาชีพได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
น้ำเต้าหู้




ส่วนผสมทำนมถั่วเหลือง

สูตร 1-ถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม น้ำตาลทรายขาวละเอียด 360 กรัม เกลือเสริมไอโอดีน ป่น 1 ช้อนชา น้ำสะอาด 32 ถ้วย ( ประมาณ 8 ลิตร )

สูตร 2-ถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม น้ำตาลทรายขาวละเอียด 500-600 กรัม เกลือเสริมไอโอดีนป่น 1 ช้อนชาน้ำสะอาด 32 ถ้วย ( ประมาณ 8 ลิตร )

สูตร 3-ถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม น้ำตาลทรายขาวละเอียด 1,000 กรัม เกลือเสริมไอโอดีนป่น 2 ช้อนชา น้ำสะอาด 32 ถ้วย ( ประมาณ 8 ลิตร )

สูตร 4-ถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม น้ำตาลทรายขาวละเอียด 1,000 กรัม เกลือเสริมไอโอดีนป่น 1/2 ช้อนชา น้ำสะอาด 32 ถ้วย ( ประมาณ 8 ลิตร )

สูตรทุกสูตรคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ปริมาณเกลือและน้ำตาลเท่านั้น

ถ้าจะให้มีรสมันเพิ่ม เวลาปั่นให้ใส่ ถั่วลิสงคั่ว 1 กำมือ ปั่นรวมกันสีน้ำนมจะออกสีเหลือง หรือ อาจใช้นมข้น ประมาณครึ่งกระป๋องใส่ลงไปก็จะได้น้ำนมถั่วเหลืองที่มีสีขาวชวนรับประทาน มีกลิ่นหอมและมีรสมัน เหมือนนมสด

ขั้นตอนและวิธีทำ :

1.นำถั่วเหลือง( ใช้ชนิดถั่วเหลืองทั้งเมล็ด ไม่ใช้ถั่วเหลืองซีก ) มาคัดเอาสิ่งสกปรก กรวดทรายดิน ออกให้หมดล้างให้สะอาด ( เมล็ดที่เสียจะลอยน้ำ คัดทิ้ง ) เอาขึ้นจากน้ำ สงไว้

2.นำถั่วเหลืองไปคั่วให้หอม แล้วนำถั่วเหลืองที่คั่วไปแช่ในน้ำสะอาด จะใช้วิธีแช่ในน้ำร้อนประมาณ 3 ชั่วโมงก็ได้ตามสะดวกจากนั้นนำมายีเอาเปลือกออก ล้างให้สะอาด เอาขึ้นจากน้ำ สงไว้ การแช่ถั่วเหลืองไม่ควรนานเกิน 2-3 ชั่วโมงให้สังเกตว่าพอเม็ดถั่วเริ่มพอง อมน้ำเต็มที่ก็จะใช้ได้ ถ้าเราแช่เมล็ดถั่วเหลืองในน้ำนานเกินไปจะทำให้โปรตีนในถั่วจับตัวกันได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือ โดยให้น้ำท่วมประมาณ 3 เท่าของถั่วเหลือง แช่นานประมาณ 5 - 8 ชั่วโมง

3.แบ่งถั่วเหลืองพอประมาณใส่ในเครื่องปั่นน้ำผลไม้ แล้วใส่น้ำให้พอปริ่มๆถั่วเหลืองปั่นให้ละเอียด แบ่งปั่นไปเรื่อยๆ หรือ บดด้วยโม่หิน จนถั่วเหลืองหมด

4.ตวงน้ำ 2 ลิตร นำไปต้มจนเดือดจัด

5.ระหว่างที่รอ ให้เทน้ำถั่วเหลืองที่ปั่นไว้แล้วใส่ลงไปในหม้อที่รองด้วยผ้าขาวบาง 2 ชั้น นำน้ำที่ต้มเดือดเทตามลงไป คนให้เข้ากัน น้ำจะอุ่นพอดี คั้นเอาแต่น้ำนมถั่วเหลืองแบบคั้นกะทิ แล้วแยกกรองกากออกมา

6.เทน้ำถั่วเหลืองที่คั้นไว้ไว้แล้วใส่ลงไปในหม้อ โดยกรองด้วยผ้าขาวบาง 2 ชั้นเสร็จแล้วเติมน้ำส่วนที่เหลือทั้งหมดลงไปในหม้อ คนให้เข้ากัน

5.ยกหม้อขึ้นตั้งไฟ ( ถ้าต้องการใช้กลิ่นใบเตยดับกลิ่นสาปถั่วเหลือง ใส่ใบเตยตอนนี้ ) ต้มด้วยไฟกลาง พอเริ่มจะเดือด ก็ใช้ไฟอ่อน คุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 90 องศาเซลเชียส ( น้ำจะเดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเชียส )คือต้มให้น้ำถั่วเหลืองร้อนแต่ไม่เดือด ขั้นตอนในการต้มใช้เวลาประมาณ 30-40 นาทีในขณะต้มต้องหมั่นคนอยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้นจะไหม้ได้ง่าย พอชิมดูว่าถั่วเหลืองสุกแล้วใส่เกลือครึ่งช้อนชาเคี่ยวต่ออีกประมาณ 5 นาที ปิดไฟหรือยกลง เติมน้ำตาลและเกลือป่น ชิมรสตามชอบ

การทำน้ำเชื่อมเข้มข้น :

โดยใช้น้ำตาลทรายเคี่ยวกับน้ำสะอาด ในสัดส่วน 2:1 ตั้งไฟพอให้น้ำตาลละลายหมดก็พอ ไม่ต้องเคี่ยวนาน มิฉะนั้นสีน้ำเชื่อมจะดำไม่น่าทาน

เครื่องปรุงที่ใส่ในน้ำเต้าหู้เพื่อแต่งรสเวลาเสริฟ :

ลูกเดือยต้มสุก สาคูเม็ดใหญ่ต้มสุก เม็ดแมงลักละลายน้ำจนพอง วุ้นหั่นเป็นเส้นยาว ลูกบัวต้ม ถั่วแดง ฟักเชื่อมหั่นเป็นชิ้นๆ น้ำเชื่อม ฟรุทสลัด .... ฯลฯ
( อยากใส่อะไรก็ใส่ ไม่อยากใส่อะไรก็ไม่ต้องใส่ ...ตามใจชอบ )งาอบหรือคั่วโรยหน้า

ส่วนประกอบทางโภชนาการของนมถั่วเหลือง 250 มิลลิลิตรน้ำ 217 กรัม โปรตีน 6.3 กรัม น้ำตาลแลคโตส 22.5 กรัม ไขมัน 2.8 กรัม แคลเซียม 48 กรัมให้พลังงาน 135 กิโลแคลอรี่ ( ข้อมูลจาก กองโภชนาการ กรมอนามัย )
นมถั่วเหลืองที่ทำ หากแช่เก็บไว้ในตู้เย็น สามารถเก็บได้ประมาณ 5 วัน ถ้าขั้นตอนการทำสะอาดพอ

เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ ถ้าไม่ต้องการใส่น้ำตาลก็ไม่ต้องใส่ถ้าต้องการเพิ่มกลิ่นใบเตย ก็ใช้ ใบเตยล้างสะอาด 5 ใบตัดเป็นท่อน ๆ ต่อ ถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม ถ้าต้องการแต่งสีก็เติมสีอาหารจากธรรมชาติ อาทิเช่น สีเหลือง จาก ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย หญ้าฝรั่น ดอกคำฝอย ลูกพูด ดอกกรรณิการ์ ฟักทอง มันเทศ แครอท สีเขียว จาก ใบเตยหอม ใบย่านางพริกเขียว และ ใบคะน้า สีแดง จากครั่ง มะเขือเทศสุก , กระเจี๊ยบ ,มะละกอ ,ถั่วแดง และพริกแดง สีน้ำเงิน จากดอกอัญชัน สีม่วง จาก ดอกอัญชันสีน้ำเงินผสมมะนาว , ข้าวเหนียวดำ และถั่วดำ สีแสด จากเมล็ดของผลคำแสด เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น